samedi 26 février 2011

วิกฤต "อาหรับ-แอฟริกา" 11 ชาติเสี่ยง โค่นระบอบเผด็จการ สู่ระเบียบโลกใหม่



กระแสการประท้วงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในตะวันออกกลางและแอฟริกาบางส่วนอย่างน้อย 15 ประเทศ และ 1 เขตปกครองตนเองของปาเลสไตน์

ไฟประท้วงเพื่อให้ได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและวิถีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นลุกลามมาจากตูนิเซียไปยังอียิปต์ จนสามารถโค่นล้มผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 30 ปีอย่าง ฮอสนี มูบารัก ให้พ้นจากตำแหน่งไปได้ในเวลาไม่นานนัก

ล่าสุดปรากฏการณ์การต่อต้านผู้นำกำลังคุกรุ่นดุเดือดอยู่ในลิเบีย เช่นเดียวกับที่ปรากฏในเยเมน บาห์เรน จอร์แดน อิหร่าน อิรัก ซีเรีย คูเวต หรือแม้กระทั่งเขตปกรองตนเองต่อเนื่องไปยังแคเมอรูน แอลจีเรีย ดาจิบูติ ซูดาน และโมร็อกโก

มีคำหลาย ๆ คำถูกหยิบยกมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ เพื่อให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกอย่างฉับพลันและรวดเร็ว อาทิ "เฮอร์ริเคนของการเปลี่ยนแปลง" (Hurricane of change) และระเบียบโลกใหม่ (new world order) ซึ่งปรากฏอยู่ในบทวิเคราะห์ล่าสุด เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ของเดอะ เดลี่ มาร์เวริก (www.thedailymaverick.co.za) หรือการปฏิวัติในอาหรับ (Arab revolution) เป็นต้น

ในเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของการรวมตัวประท้วง และข้อเรียกร้องในแต่ละประเทศ อาทิ ในลิเบีย ซึ่งการประท้วงได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาหลังจากไม่พอใจต่อความล่าช้าในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในที่ตั้งของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และยึดครองพื้นที่ดังกล่าวไว้ ในครั้งนั้นผู้นำลิเบีย โมอัมมาร์ กัดดาฟี แก้ไขปัญหาด้วยการอนุมัติเงินทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย และการพัฒนา 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์

แต่จุดแตกหักระหว่างชาวลิเบียและกัดดาฟีเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวญาติของประชาชนที่ถูกสังหารหมู่ในคุกอาบู ซาลิมเมื่อปี 2539 จาก จุดนั้นการประท้วงได้ทวีความรุนแรงและบานปลายเป็นการขับไล่ผู้นำให้พ้นจากอำนาจ

หรือในกรณีของบาห์เรน ซึ่งเริ่มต้นจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนำระบอบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ และประท้วงรัฐบาลภายใต้การนำของคนในนิกายสุหนี่ เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลชุดนี้เลือกปฏิบัติ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชั่นหรือการว่างงาน

นาดิม เชฮาดิ นักวิจัยจากชาแธม เฮาส์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในเว็บไซต์ chathamhouse.org.uk ว่า แม้อาจเร็วเกินไปที่จะคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ รวมถึงประเด็นที่ว่ารัฐบาลของนานาชาติควรมีปฏิกิริยาสนองตอบต่อกรณีเหล่านี้อย่างไร และจะเข้ามาแทรกแซงในระเบียบโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกอาหรับได้อย่างไร แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วในตูนิเซีย และอียิปต์ เป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกอาหรับทำตาม

"แต่ระยะนี้ในตูนิเซียและที่อื่น ๆ ยังไม่ใช่บทอวสาน แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น"

ในมุมมองของเชฮาดิ บทต่อไปของปรากฏการณ์ปลดแอกในโลกอาหรับ จะต้องตามมาด้วยการเจรจาและการสร้างระเบียบโลกใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดสุญญากาศของอำนาจ และสร้างสถาบันต่าง ๆ ที่สามารถรับรองได้ว่า การปกครองที่ดีกว่าเดิมจะเกิดขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เช่นนั้นมาถึง เขาคิดว่านั่นจะเป็นช่วงที่โลกอาหรับจะเผชิญกับปัญหาท้าทายใหม่ ๆ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากโลกภายนอก

ความฝันที่จะเห็นโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นักวิเคราะห์เชื่อว่าสถานการณ์นั้นไม่เกินความจริง โดยเฉพาะเมื่อพลังของประชาชนประสบความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอียิปต์ เพราะในฐานะชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับ อียิปต์ถูกมองว่าเป็นผู้นำเทรนด์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังนั้นหลังการลงจากอำนาจของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก หลายคนจึงเริ่มตั้งคำถามว่าใครจะเป็นรายต่อไป

หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์ในอียิปต์ จะพบว่าปัจจัยที่ผลักดันให้ประชาชนออกมาบนท้องถนนไม่ใช่การปกครองแบบ ทุนนิยมเผด็จการอันยาวนานเพียงอย่างเดียว แต่มีแรงบีบคั้นจากค่าครองชีพและอัตราการว่างงานที่สูงร่วมด้วย บวกกับการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการระดมคนอย่างมีประสิทธิภาพ

บิสซิเนส อินไซเดอร์ดอทคอม ชี้ว่า เมื่อเทียบเคียงกับบทเรียนในแดนฟาโรห์มีอีก 11 ชาติที่ตกอยู่ในสถานการณ์ ล่อแหลมดังต่อไปนี้

ลิเบีย ภายใต้การปกครองของเผด็จการโมอัมมาร์ กัดดาฟี นานหลายทศวรรษ แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนกลับไม่ดีขึ้น โดยมีอัตราการว่างงานสูงสุดในแอฟริกาเหนือ และยิ่งหมดหวังเมื่อท่านผู้นำหวังจะให้บุตรชายของตนขึ้นสืบทอดอำนาจ นอกจากนี้การอยู่ระหว่าง 2 ชาติตูนิเซียและอียิปต์ที่ประชาชนล้มเผด็จการสำเร็จ ทำให้ชาวลิเบียพร้อมต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

โมร็อกโก แม้อัตราเงินเฟ้อที่ 2.6% เมื่อธันวาคมปีกลายจะไม่สูง แต่อัตราว่างงานกลับอยู่ในระดับเสี่ยง โดยรวมอยู่ที่ 9.1% แต่ในหมู่คนที่จบปริญญาตรีมีถึง 1 ใน 4 ที่ไร้อาชีพ นอกจากนี้การใช้สื่อออนไลน์ยังเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนรุ่นใหม่ แต่เพราะรัฐบาลโมร็อกโกดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยมาระยะหนึ่งแล้ว แรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นไม่ใช่การล้มล้างระบอบเดิม ประเทศนี้จึงค่อนข้างปลอดภัยในระยะนี้

จอร์แดน ด้วยเงินเฟ้อที่ 6.1% การว่างงานที่ 14% และมีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเกือบ 40% การประท้วงจึงเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลหาทางบรรเทาความไม่พอใจโดยการให้เงินอุดหนุนอาหารและพลังงาน ด้าน กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 ซึ่งเป็นราชาใต้รัฐธรรมนูญประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีภารกิจด้านปฏิรูปเป็นอันดับแรก จำนวนผู้ประท้วงในครั้งหน้าขึ้นอยู่กับว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเพียงใด

ซีเรีย ภาวะทางเศรษฐกิจยังไม่ดิ่งเหวเท่าประเทศใกล้เคียง แม้การปกครองของ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซัด จะเหี้ยมโหดกว่าในอียิปต์ ผู้นำประเทศเชื่อว่าการเป็นพันธมิตรกับอิหร่านและสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์จะช่วยค้ำจุนบัลลังก์ของตน คาดว่ารัฐบาลยังแข็งแกร่งเกินกว่าผู้ประท้วงจำนวนน้อยนิดจะสั่นคลอนได้

ซาอุดีอาระเบีย รายได้มหาศาลจากน้ำมันและกองทัพที่ เข้มแข็ง ทำให้เป็นไปได้ยากที่ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอหรือการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมจะล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ แต่ความไม่พอใจในกลุ่มคนหนุ่มสาวซึ่งมีอัตราว่างงานสูงถึง 42% และการเข้าถึงเฟซบุ๊ก ราว 3 ล้านคนอาจทำให้ผู้นำหนาว ๆ ร้อน ๆ ได้ในอนาคต

อิหร่าน แม้รัฐบาลจะปราบปรามการประท้วงครั้งก่อนอย่างรุนแรง แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานซึ่งอยู่ในระดับเลข 2 หลักยังสูงต่อเนื่อง ประกอบกับแรงบันดาลใจจากอียิปต์ ชาวอิหร่านอาจลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง

เยเมน ผู้ประท้วงเริ่มก่อหวอดจากความไม่พอใจเรื่องปัญหาว่างงานที่สูงถึง 40% รัฐบาลอยู่ในภาวะอ่อนแอเนื่องจากประเทศเป็นแหล่งชุมนุมของผู้ก่อการร้าย มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศนี้

ปากีสถาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต ความล้มเหลวของกลไกภาครัฐเห็นได้จากการรับมืออุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีกลาย และยังถูกซ้ำเติมด้วยการโจมตีของกลุ่มตาลิบันและการแทรกแซงของสหรัฐ ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

เวียดนาม ปัญหาทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินเฟ้อและการว่างงาน คือสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ประเทศอยู่ในฐานะชาติเอเชียที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการชุมนุมประท้วง

จีน มีองค์ประกอบพร้อมทุกอย่างยกเว้นการว่างงาน คนในแถบชนบทอาจโกรธแค้นที่ข้าวของแพงและไม่มีงานทำแต่ยากที่กระแสความไม่พอใจจะแพร่ไปถึงเมืองใหญ่ ต้องเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่กระทบถึงคนทุกหย่อมหญ้าจึงจะสั่นคลอนฐานอำนาจของรัฐบาลปักกิ่งได้
..................




ที่มา นสพ. ประชาชาติธุนรกิจ

Aucun commentaire:

Enregistrer un commentaire